9 ขั้นตอนเตรียมผลิตงานถ่ายโฆษณาที่คนทำงานต้องรู้
ขั้นตอนแรกของการผลิตงานถ่ายโฆษณาก็คือขั้นตอนการเตรียมงานหรือที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า Pre-Production นั่นเอง การทำงานในขั้นตอนนี้ก็คือการวางแผนเตรียมงานต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนถึงวันถ่ายโฆษณาจริง การเตรียมงานและวางแผนถือเป็นขั้นตอนการทำงานที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ แม้จะต้องใช้เวลามากและต้องใช้งบประมาณมากกว่าขั้นตอนอื่น ก็ต้องยอม เพราะหากงานมีการวางแผนและเตรียมงานไว้เป็นอย่างดี ก็ทำให้มั่นใจว่าขั้นตอนการผลิตจริงจนสำเร็จเป็นชิ้นงานโฆษณานั้นจะราบรื่นไม่มีอุปสรรค

1 วางเป้าหมาย การวางเป้าหมายของงานโฆษณาก็เพื่อให้รู้ว่าทำชิ้นงานโฆษณาไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อเพิ่มยอดขาย เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ หรือเพื่อตอกย้ำให้ลูกค้าจำแบรนด์สินค้าเราได้
2 กำหนดงบประมาณและระยะเวลา เรื่องเงินงบประมาณในการทำโฆษณาก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนไว้ก่อนเช่นกัน และต้องวางแผนด้วยว่าต้องการให้ชิ้นงานโฆษณาเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์เมื่อไหร่
3 คิด Theme ช่วงการคิด Theme โฆษณาเป็นช่วงที่ต้องระดมสมองและไอเดียมากที่สุด ถือเป็นขั้นตอนสำคัญเพราะแก่นของเรื่องจะกำหนดทิศทางของการทำงานในขั้นตอนต่อไป
4 เขียน Script เมื่อได้ Theme และพล็อตเรื่องทำโฆษณาคร่าว ๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเขียน Script ก็คือการเขียนออกมาเป็นเรื่องราวหรือบทพูดอย่างละเอียดนั่นเอง
5 ทำ Storyboard จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการทำ Storyboard คือการเขียนภาพนิ่งและบทพูดลงบนกระดาษ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการถ่ายทำวีดีโอโฆษณาต่อไป หากใครคิดภาพไม่ออกก็ให้นึกถึงหนังสือการ์ตูน
6 คัดตัวนักแสดง เมื่อแผนการทั้งเรื่องราว ตัวละคร และบทพูดถูกวางแผนและเขียนไว้อย่างละเอียดใน Storyboard แล้ว ขั้นต่อมาก็เป็นการหานักแสดงที่เหมาะสมเพื่อมารับบทบาทนั้น
7 หาสถานที่ถ่ายทำ ต่อมาก็เป็นการเตรียมหาสถานที่สำหรับถ่ายทำวีดีโอโฆษณา โดยต้องเลือกให้สมจริงกับที่วาง Theme ไว้ จากนั้นให้ติดต่อประสานงานนัดหมายให้พร้อมก่อนถึงวันถ่ายทำจริง
8 เตรียมอุปกรณ์ประกอบฉาก หากต้องมีอุปกรณ์ประกอบฉากก็ต้องเตรียมให้พร้อม และอาจต้องมีสำรองเตรียมไว้เผื่อฉุกเฉินด้วย
9 ทำ Workshop ก่อนถึงวันถ่ายทำโฆษณาจริง จะต้องนัดหมายเพื่อทำ Workshop กันก่อน นักแสดงจะได้เห็นหน้ากัน มีการซ้อมบทกัน ถ้ามีการใช้เทคนิคพิเศษในการถ่ายทำจะได้มีการซ้อมล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ผิดคิว
แค่ขั้นตอนการ Pre-Production ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายขั้นตอนที่ต้องเตรียมงานกัน ต้องมีคนดูแลรับผิดชอบแต่ละขั้นตอนแยกส่วนกันไปอย่างชัดเจน แต่ต้องมีการประชุมเพื่ออัพเดทข้อมูลและระดมความคิดกันอยู่เสมอ ๆ หาก Pre-Production มีการวางแผนและเตรียมงานไว้ดี การทำงานในขั้นตอนของการผลิตจริงก็จะง่ายและราบรื่นขึ้น