เทคนิคการเขียน Storyboard ให้โดนใจลูกค้า
การเขียน Storyboard เป็นขั้นตอนการเตรียมงานก่อนถึงวันถ่ายทำโฆษณาจริง โดย Storyboard มีลักษณะเป็นภาพนิ่งที่มีข้อความ มีการกำหนดการเล่าเรื่องเป็นฉาก ๆ มีการเรียงลำดับภาพ รู้ว่าตอนถ่ายจริงมุมกล้องต้องเป็นแบบไหน ถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงภาพการ์ตูนที่เป็นช่อง ๆ Storyboard มีลักษณะคล้ายแบบนั้น แต่มีรายละเอียดมากกว่า
ส่วนเส้นสายภาพวาดไม่จำเป็นต้องสวยงามหรือละเอียดมากนัก เน้นองค์ประกอบความสัมพันธ์ของตัวละคร ฉาก แสงเงา และกำหนดเวลา คนทำ Storyboard ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเก่ง แต่ต้องถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพและเสียงเพื่อนำไปใช้ในการถ่ายทำจริงเป็นภาพยนตร์โฆษณาได้
Storyboard เปรียบเสมือนกับโครงร่างแผนการทำงานแบบละเอียดที่ทำให้ทุกฝ่ายที่ต้องทำงานถ่ายทำโฆษณาในวันจริงรู้ว่าใครต้องทำอะไร ใครต้องอยู่ตรงไหน รู้งบประมาณที่ต้องใช้จริง รู้ว่ามีภาพที่ต้องถ่ายทำทั้งหมดเท่าไหร่ มีสถานที่ต้องถ่ายทำกี่แห่ง ต้องใช้เทคนิคอุปกรณ์พิเศษอะไรหรือไม่ ตัวนักแสดงรู้ว่าต้องยืนจุดไหน ต้องเคลื่อนที่ในทิศทางต่าง ๆ อย่างไร ช่างภาพและช่างกล้องรู้ว่าตำแหน่งของตนเองอยู่ตรงไหน ต้องเคลื่อนกล้องอย่างไร ภาพไหนต้องซูม ภาพไหนต้องถ่ายระยะไกล รู้ว่าควรเลือกใช้เลนส์อย่างไร คนจัดแสงรู้ว่าช็อตไหนต้องใช้แสงมากแสงน้อยจะได้เตรียมถูก
หากเป็นการรับจ้างผลิตโฆษณาให้กับลูกค้า ลูกค้าจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในแทบทุกขั้นตอน Storyboard ก็เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งที่เมื่อเสร็จเรียบร้อยต้องได้รับอนุมัติจากลูกค้าก่อน จึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ การเขียน Storyboard ให้โดนใจลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การเขียน Storyboard เพื่อให้โดนใจลูกค้า มีหลักสำคัญตรงภาพที่ออกมาต้องสื่อแนวความคิดสร้างสรรค์ และสอดคล้องกับเป้าหมายของการโฆษณาที่ลูกค้าต้องการได้ ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงการดำเนินเรื่อง เรียกได้ว่าเห็น Storyboard และฟังคำอธิบายแล้วลูกค้าต้องจินตนาการออกว่าเมื่อ Storyboard กลายเป็นวีดีโอโฆษณาจริงนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ขั้นตอนสำคัญที่คนทำ Storyboard ต้องใช้เวลามากที่สุดก็น่าจะเป็นช่วงการค้นหาแรงบันดาลใจ ต้องรู้ว่าเราอยากจะพูดหรืออยากจะเสนออะไรลงใน Storyboard
คำบรรยายใต้ภาพทั้งเรื่องภาพและเสียงต้องเขียนอย่างสร้างสรรค์และครบถ้วน แม้เส้นสายของภาพจะไม่ได้ต้องสวยงามหรือละเอียดนัก แต่ภาพก็บ่งบอกถึงความตั้งใจของคนเขียน Storyboard ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ ทิศทางที่ตัวละครหรือสิ่งของมีการเคลื่อนไหว คนเขียน Storyboard ต้องใช้เทคนิคอย่างการใช้ลูกศรสีต่าง ๆ เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงความเคลื่อนไหวนั้นเป็นอย่างดี ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนจะรู้เทคนิคที่คนทำ Storyboard ใช้ เช่น ศัพท์เทคนิคเรื่องเสียง ดังนั้นการทำ Storyboard ที่มีองค์ประกอบครบถ้วน สื่อความหมายได้ดี พร้อม ๆ ไปกับคำอธิบายที่ทำให้เห็นภาพ Storyboard นั้นจึงโดนใจลูกค้าได้