ตั้งเป้าหมายทั้งที ต้อง SMART ไว้ก่อน !!
จริงๆ แล้วถ้าจะเขียนหัวข้อของบทนี้ให้ถูกต้อง จะต้องเขียนว่า … S.M.A.R.T. ไม่ใช่ SMART ซะทีเดียว เพราะว่าคำว่า S.M.A.R.T. นั้นเป็นคำย่อ ที่มาจากเทคนิคของการตั้งเป้าหมายนั่นเอง
ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับวิธีการตั้งเป้าหมายด้วยเทคนิค S.M.A.R.T. กันนะครับ โดยก่อนอื่นเลย เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า การตั้งเป้าหมายในแบบ S.M.A.R.T. ที่พูดถึงนั้นคืออะไร
- S : Specific
- M : Measurable
- A : Achievable
- R : Relevant
- T : Time-Bound
มาทำความรู้จักแต่ละคำกันต่อเลย
S : Specific
การตั้งเป้าหมายต้องตั้งให้เฉพาะเจาะจง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมทำธุรกิจขายสินค้าประเภทน้ำพริก ผมจะบอกเพียงแค่ว่า ผมจะขายน้ำพริกได้เยอะมากๆ เท่านี้ไม่เพียงพอ ผมจะต้องลงรายละเอียดให้มากกว่านี้ไปด้วย เช่น ผมจะขายน้ำพริกรสหมูหยองพริกเผา โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Facebook Ads และ LINE Ads ก็จะทำให้สามารถเฉพาะเจาะจงได้มากยิ่งขึ้น
การเฉพาะเจาะจง จะทำให้เราสามารถมองเห็นภาพเป้าหมายของเราได้ชัดมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เมื่อเรามีเป้าที่ชัดแล้ว เราจะสามารถนำเป้าที่ได้นี้ ไปสร้างกระบวนการเพื่อให้เราสามารถไปถึงเป้าได้ง่ายๆ อีกด้วย
ดังนั้น การเฉพาะเจาะจงกับการตั้งเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ
M : Measurable
การตั้งเป้าหมายที่ดี ต้องสามารถวัดผลได้ ซึ่งการวัดผลที่ดี จะต้องสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ด้วยนั่นเอง
จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ หากผมจะตั้งเป้าเพื่อให้สามารถวัดผลได้ ผมก็จะต้องมีการเติมข้อมูลของตัวเลขเข้าไปด้วย เช่น ผมจะขายน้ำพริกรสหมูหยองพริกเผา ให้สามารถมียอดขาย 24 ล้านบาทต่อปี โดยเฉลี่ยจะต้องสามารถขายได้เดือนละ 2 ล้านบาท ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Facebook Ads และ LINE Ads เป็นต้น
จากตัวอย่างนี้ จะทำให้ผมสามารถมีเป้าหมายที่เป็นตัวเลข ทั้งต่อปี และต่อเดือน ก็จะสามารถทำการตรวจวัด และวัดผลเป็นรายเดือนและรายปีได้นั่นเอง
A : Achievable
เป้าหมายที่ตั้งนั้น ต้องสามารถมีความเป็นไปได้จริงๆ
เป้าหมายจะเป็นจริงได้ จะต้องเกิดจากการวางแผนที่สามารถอ้างอิงได้จากสถานการณ์ปัจจุบันจริงๆ ด้วย แต่หากไม่สามารถอ้างอิงจากกระบวนการจริงในปัจจุบันได้ เป้าหมายนั้นก็จะไม่ต่างอะไรกับความฝันเลย
จากตัวอย่างเดิม สมมติผมตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องการมียอดขาย 24 ล้านบาทต่อปี แต่วันนี้ ผมยังไม่สามารถผลิตสินค้านั้นออกมาได้ หรือยังไม่ได้นำสินค้านั้นไปทดลองตลาดเพื่อวัดผลในมุมด้านต่างๆ เลย ยังไม่มีตัวเลขยอดขายปัจจุบัน ยังไม่มีฐานลูกค้า ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใดๆ เลย ดังนั้นการที่ผมตั้งเป้ายอดขาย 24 ล้านก็ดูจะเกินความเป็นจริงไปนั่นเอง
การตั้งเป้าหมายที่ดี ต้องอ้างอิงจากสถานการณ์ปัจจุบันได้ด้วยจะยิ่งดี
แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องเข้าใจไว้ด้วย นั่นก็คือ เราไม่ควรที่จะตั้งเป้าหมายที่น้อยเกินไป หรือเป้าหมายที่เราสามารถทำได้แน่ๆ อยู่แล้ว เพราะการตั้งเป้าหมายแบบนั้นจะไม่ช่วยให้ธุรกิจของเราเติบโตได้เลย
การตั้งเป้าหมาย ควรจะต้องมีความท้าทาย ต้องมีส่วนช่วยให้เราสามารถสร้างธุรกิจของเราให้เติบโตขึ้นได้ด้วย จะดีมากๆ
R : Relevant
การตั้งเป้าหมายที่ดี จะต้องมีความเกี่ยวข้องกันกับธุรกิจของคุณ
หมายความว่า หากเป้าหมายนั้น ไม่มีความสอดคล้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณเลย นั่นคือการตั้งเป้าหมายที่ไม่ดีเลย
จากตัวอย่างข้างต้น ผมขายน้ำพริก เพราะฉะนั้น เป้าหมายของผมจะต้องเป็นเรื่องของยอดขายเป็นหลัก ส่วนเรื่องผลประกอบการอื่นๆ นั้น ก็จะเป็นเรื่องรองลงไป เช่น การตั้งเป้าการทำโฆษณาเพื่อให้มีคนเข้าถึง 1 ล้านคน ก็จะเป็นเป้าหมายที่รองลงไป เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน สมมติว่าผมทำธุรกิจเป็นสื่อ เป้าหมายของธุรกิจสื่อของผม ก็จะไม่ใช่เรื่องของยอดขายที่เป็นเรื่องหลัก แต่จะต้องเป็นเรื่องของการเข้าถึงของผู้คนที่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจสื่อของผมจะขายได้ ต้องสามารถเข้าถึงผู้คนให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจในธุรกิจของเราให้ดีด้วยว่า จริงๆ แล้ว เป้าหมายหลักและเป้าหมายรองของธุรกิจของเรานั้นคืออะไร
T : Time-Bound
การตั้งเป้าหมาย จะต้องสามารถอ้างอิงกรอบเวลาได้อย่างชัดเจน
จริงๆ แล้วไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของกรอบเวลา ว่าจะต้องทำให้ได้ภายในเมื่อไหร่ แต่โดยทั่วไป เรานิยมวัดกันเป็นหลักปี หรือเดือน หรือสำหรับธุรกิจ อาจจะต้องมีการวัดผลกันทุกๆ ไตรมาสต์ หรือ ทุกๆ Quarter เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจขายน้ำพริกของผม จะต้องมีการเก็บบันทึกยอดขายรายวัน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมิณการวัดผลรายเดือน และรายปีต่อไปด้วย เป็นต้น
สุดท้าย ขอฝากเทคนิคการตั้งเป้าหมายนี้ไว้ และอย่าลืมว่า หากเราสามารถตั้งเป้าหมายได้ “ชัดเจน” มากเท่าไหร่ เราก็จะสามารถวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ไม่ยาก