Business Transformation กับการยกระดับธุรกิจ
คำที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ในแวดวงธุรกิจทุกวันนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า Business Transformation แน่ๆ
แต่คำถามที่อยากจะขอถามเจ้าของกิจการอย่างเราๆ นั่นก็คือ เราเข้าใจถึงความหมายของคำๆ นี้ได้ถูกต้องจริงๆ แล้วหรือไม่ เข้าใจจริงๆ แล้วหรือยังว่าสิ่งนี้จำเป็นกับธุรกิจในยุคปัจจุบันขนาดไหน
และวันนี้ เราจะมาคุยเรื่องนี้กันนะครับ
เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพกับคำว่า Business Transformation กันมากขึ้น … คำๆ หนึ่งที่น่าจะให้ความหมายได้ชัดเจนมากคำหนึ่ง นั่นก็คือ “เปลี่ยนร่าง”
การ “เปลี่ยนร่าง” ให้กับธุรกิจอาจทำได้หลากหลายวิธี แต่หลักสำคัญของ Business Transformation ก็คือ การทำให้บริษัท หรือทำให้ธุรกิจของเรามีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นอยู่ กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกเลย
ทำให้คำว่า Transformation สามารถนำไปใช้ได้เป็นอย่างดีกับนักบริหารธุรกิจ เนื่องจากเป็นคำที่มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่ว่าจะทำอะไรก็อาจเข้าข่ายการทำ Transformation ทั้งนั้น และนิยมใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลย เพื่อให้เข้าใจความหมายในแบบสากลกันได้นั่นเอง
“Business Transformation อาจเป็นการเปลี่ยนแบบเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนร่างแบบที่แตกต่างไปจากของเดิมหรือธุรกิจแบบเดิมเลยก็ได้”
การเปลี่ยนร่างธุรกิจ เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ที่มักจะทำกันอยู่ในปัจจุบัน อาจได้แก่ การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ การเปลี่ยนร่างของกระบวนการจัดการต่างๆ หรือวิธีการทำธุรกิจ หรือแม้แต่ การเปลี่ยนธุรกิจโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แทนกระบวนการแบบใช้มนุษย์หรือแรงงานเป็นผู้ลงมือทำ ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประกอบใช้นี้ เป็นที่นิยมกันในปัจจุบันนี้มาก
หากจะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนร่างในธุรกิจหรือภายในบริษัท โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยจากภายนอก ผู้บริหารมักจะให้ความสำคัญกับ การเปลี่ยนรูปแบบของวิธีการทำงาน ขั้นตอนการทำงาน หรือ ประสิทธิภาพของการทำงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในหลายอย่างของบริษัทเป็นหลัก
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การทำให้การทำงานทำได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ประสิทธิภาพงานสูงขึ้น หรือทำให้ลดต้นทุนการทำงานลง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนร่างของกระบวนการทำงานภายใน มักจะไม่ทำให้บุคคลภายนอกเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของธุรกิจในทิศทางที่ดีขึ้น อาจได้ผลเพียงการทำให้พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานเห็นว่า องค์กรให้ความสำคัญกับสภาพการทำงานของพนักงานเพียงเท่านั้น
ยกเว้นการแปลงร่างกระบวนการทำงานอย่างพลิกโฉม สร้างผลกระทบเชิงบวกได้สูง และสะท้อนไปยังผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการได้อย่างชัดเจน
เช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการขายสินค้า จากหน้าร้านแบบ Offline ไปเป็นการซื้อขายผ่านระบบ Online ของ Platform ของ Market Place ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ในปริมาณมากยิ่งขึ้น
ประเภทต่อมาของการแปลงร่างธุรกิจ ได้แก่ การเปลี่ยนรูปแบบของโมเดลธุรกิจ ซึ่งโมเดลธุรกิจที่จะประสบควาวมสำเร็จ มักจะมีรูปแบบที่โดดเด่นเป็นของตนเอง และแตกต่างจากโมเดลธรรมดาทั่วไปที่ธุรกิจส่วนใหญ่ใช้ตามๆ กันมา
โมเดลธุรกิจ จะให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานภายใน กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ ช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คุณค่าเพิ่มที่จะส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนแผนการหรือวัตถุประสงค์ในการสร้างรายได้และต้นทุนทรัพยากรที่ต้องใช้
การแปลงร่างโมเดลธุรกิจ จึงเป็นการแปลงร่างที่จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างสูงต่อบริษัท โดยอาจเป็นการพลิกสถานการณ์จากสภาพเดิมๆ ของธุรกิจ ให้กลายมาเป็นธุรกิจโฉมใหม่ในสายตาของตลาดและบุคคลภายนอกได้
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น Grab ที่มีตั้งแต่การเป็น Taxi จนถึงบริการรับส่งอาหาร ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในยุคโควิทที่ผ่านมา หรือแม้แต่ 7-11 เอง ที่แต่ละสาขาหันมาทำ Delivery กันอย่างจริงจัง ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีมากๆ เช่นกัน
ส่วนการแปลงร่างธุรกิจ ที่เรียกกันว่า การแปลงร่างแบบดิจิทัล หรือ Digital Transformation นั้น มีความหมายโดยตรงถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีโครงข่ายที่ครอบคลุมกว้างขวาง มาใช้ในการทำธุรกิจเพื่อให้ตอบสนองกลยุทธ์การเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
กระบวนการแปลงร่างธุรกิจแบบดิจิทัล มักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีการทำงาน และวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรได้ และมักจะค่าใช้จ่ายในการทำให้ธุรกิจเปลี่ยนรูปโฉมที่มีราคาแพง โดยหลักๆ จะเป็นในเรื่องของการทำวิจัยเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เพื่อสร้างระบบขึ้นมาใช้นั่นเอง
การแปลงร่างธุรกิจแบบดิจิทัลนี้ มักจะนำมาอ้างถึงกับวงการการเงินและการธนาคาร และการทำธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่
อีกมุมหนึ่งของการทำ Business Transformation ก็คือการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับองค์กร หรือบริษัทของเรานั่นเอง
อีกหนึ่งคำถามที่เจ้าของกิจการ ต้องตอบคำถามตัวเองให้ดี นั่นก็คือ ในเมื่อธุรกิจเจ้าอื่นๆ พร้อมสำหรับการทำ Business Transformation กันแล้ว แล้วธุรกิจของเรา พร้อมแล้วหรือยัง !!
คำตอบนั้นอาจหมายถึงความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเราในอนาคตก็เป็นไปได้
ขอบคุณบทความอ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com